5 โปรแกรมสำหรับการสตรีม ปัจจุบันอาชีพสตรีมเมอร์ได้รับความนิยมในไทยเป็นอย่างมาก ซึ่งใครที่กำลังเริ่มต้นนอกจากจะต้องมีอุปกรณ์ฮาร์ดแวร์ที่พร้อมแล้ว ต้องมีซอฟต์แวร์สำหรับการสตรีมมิง (Broadcast) ด้วย เรียกง่าย ๆ ว่าเป็นโปรแกรมไลฟ์บนแพลตฟอร์มต่าง ๆ ทั้ง YouTube, Facebook, Twitch และอื่น ๆ ดังนั้นไม่ว่าคุณจะเป็นแคสเตอร์ ยูทูบเบอร์หรือแม่ค้า โปรแกรมเหล่านี้ช่วยสร้างตัวตนและนำเสนอสู่สาธารณะได้ทันที ความแตกต่างของโปรแกรมสตรีมเหล่านี้คือเวอร์ชันและราคาลิขสิทธิ์ วันนี้เรานำตัวเลือกหลากหลายมาให้คุณคัดสรรตามใจชอบ จะมีซอฟต์แวร์อะไรน่าสนใจบ้างไปดูกันเลย
5 โปรแกรมสตรีมมิงสุดเด็ดแห่งปี 2022
1.OBS Studio (Open Broadcaster Software)
โปรแกรม OBS Studio ได้รับความนิยมจากสตรีมเมอร์ชาวไทยอย่างมากไม่ว่าจะบน Facebook Live, Youtube หรือ Twitch เพราะนอกจากจะไม่มีค่าใช้จ่ายแล้วยังมีฟังก์ชันการใช้งานที่หลากหลาย สามารถปรับตั้งค่าให้เข้ากับแพลตฟอร์มต่าง ๆ ได้ ใครที่เพิ่งจะเริ่มต้นเราขอแนะนำเลย เพราะมีฟีเจอร์ครบครันแต่ข้อเสีย คือ การเป็นโปรแกรม Open Source จึงยังมีข้อจำกัดบ้าง การปรับแต่งต้องมีการศึกษาให้ดีก่อนเพราะค่อนข้างซับซ้อน อย่างไรก็ตามมันคุ้นค่าแน่นอนเมื่อคุณชำนาญมากขึ้น
2.XSpilt
อีกหนึ่งโปรแกรมสตรีมที่มีกระแสมาอย่างต่อเนื่อง เพราะเป็นมิตรกับผู้เริ่มต้นใหม่มากกว่า OBS Studio อย่างยิ่ง และสามารถสตรีมพร้อมกันบนหลายแพลตฟอร์มได้อีกด้วย การตั้งค่าก็มีความสำเร็จรูป อย่างไรก็ตามหากใช้แบบฟรีภาพจะมีความละเอียดเพียง 720p และมีลายน้ำปรากฏซึ่งยังไม่จุใจสำหรับผู้ชมในปัจจุบันสักเท่าไหร่ ทั้งนี้โปรแกรม XSpilt มีเวอร์ชันพรีเมียมที่จะให้คุณเข้าถึงฟีเจอร์สำคัญหลายอย่างได้เพิ่ม แต่ต้องเสียค่าใช้จ่ายประมาณ 199USD หรือประมาณ 6,500 บาท หากมีงบก็ลุยกันได้เลย
3.Wirecast
อีกหนึ่งโปรแกรมสตรีมมิ่งที่มีค่าใช้จ่ายสูง แต่ก็คุ้มค่าคุ้มราคา เพราะตอบโจทย์ทุกข้อของการสตรีม มีการอัปเดตลูกเล่นให้คุณเลือกใช้หลากหลาย รองรับทั้ง McOS และ Windows มีเลย์เอาท์แบบสำเร็จรูปให้คุณปรับแต่งความสวยงามและเอ็ฟเฟ็กต์ได้ตามใจปรารถนา หาไม่ได้จากโปรแกรมอื่นแน่นอน ส่วนไฮไลต์อยู่ตรงที่การสามารถเชื่อมต่อกล้อง Guest เพื่อสตรีมร่วมกัน (Co-Stream) และสตรีมได้หลายแพลตฟอร์มพร้อมกัน ทั้งนี้ข้อเสีย คือ กินพื้นที่คอมค่อนข้างสูงและมีราคาแพง โดยเริ่มต้นที่ 599USD หรือประมาณ 20,000 บาท
4.nVIDIA Shadowplay
โปรแกรมนี้เป็นหนึ่งในโปรแกรมฟรีที่มีการอัปเดตอย่างต่อเนื่อง สำหรับผู้ที่ใช้งานกราฟิกการ์ดของ nVIDIA เข้าไปโหลด GeForce Experience เพื่อเริ่มต้นการไลฟ์สตรีมมิงกันได้เลย ถึงแม้จะไม่มีฟีเจอร์มากมายและตื่นตาตื่นใจ แต่ก็ตอบโจทย์การสตรีมขั้นพื้นฐานได้เป็นอย่างดี สามารถสตรีมได้ทั้ง Facebook Live, Youtube และ Twitch มีระบบที่รองรับ Overlay graphic และฟีเจอร์ช่วยบันทึกการสตรีมของคุณในระดับ 4K แต่การเล่นจะไม่สะดุดแน่นอนแม้ว่าคุณจะสตรีมและเล่นเครื่องเดียวกัน สเปกขั้นต่ำรองรับโน้ตบุ๊ก GeForce MX ขึ้นไปจนถึง GeForce RTX 3000 series ที่เป็นที่แนะนำ
5.vMix
โปรแกรม vMix ตอบโจทย์สำหรับผู้มีงบน้อยถึงมาก อย่าเพิ่งตัดสินใจซื้อจนกว่าจะได้ลอง เพราะมีเวอร์ชันฟรีให้ลองใช้กันก่อน แต่จะไม่สามารถเข้าถึงฟีเจอร์ได้หลากหลายและภาพมีความละเอียดเพียง HD เท่านั้น หากต้องการอัปเกรดเป็น Full-HD จำเป็นต้องซื้อเวอร์ชันธรรมดา (Basic) ในราคา 60USD หรือประมาณ 2,000 บาท ซึ่งรองรับอินพุตได้ถึง 4 ช่อง กล้อง 3 ตัว อย่างไรก็ตามจะสามารถสตรีมได้ทีละแพลตฟอร์ม ถ้าต้องการเพิ่มเติมต้องอัปเกรดเป็น เวอร์ชันโปรที่ราคาค่อนข้างสูงประมาณ 40,000 บาท สามารถบันทึกการสตรีมที่มีความคมชัดสูงสุดได้ในรูปแบบ MP4, AVI, WMV และ MPEG-2 นอกจากแพลตฟอร์มพื้นฐานแล้ว vMix สามารถตรีมได้บน Ustream และมี Virtual camera ในการสตรีมไปยัง 3rd party อย่าง Hangouts, Google, Zoom หรือ Skype
เท่านั้นยังไม่พอยังมีลูกเล่นกว่า 13 รูปแบบให้สายครีเอเตอร์เลือกอย่างสนุกสนาน เช่น เอ็ฟเฟ็กต์ซูม คัทและเฟด เลือกทรานสิชัน Title ที่เป็นแอนิเมชันได้อีกด้วย เท่านั้นยังไม่พอยังสามารถปรับแต่งภาพหรือซอร์สที่อินพุตเข้ามาได้อย่างง่ายดาย หรือแม้แต่ Live Video Effect ก็แต่งสี การเน้น ขยาย ความคมชัดได้ครอบคลุมทั้งหมด
โปรแกรมสตรีมมิงแห่งปี 2022 ที่ควรมีติดเครื่อง
เป็นอย่างไรบ้างสำหรับโปรแกรมสตรีมมิงแห่งปี 2022 ที่แคสเตอร์ควรจะมีติดเครื่อง อย่างไรก็ตามหากยังไม่มีงบประมาณ ก็สามารถใช้งานแบบทดลองฟรีไปก่อนก็ได้ เนื่องจากราคาแต่ละซอฟต์แวร์นั้นแพงหูฉี่เลยก็ว่าได้ จะเริ่มจาก OBS Studio ก็ไม่เสียหาย ถึงจะมีความซับซ้อนหน่อย แต่เมื่อเรียนรู้แล้วโปรแกรมสตรีมใด ๆ ก็ใช้งานเป็นทั้งหมดแน่นอน